คนไข้หลายท่านอาจจะยังไม่อยากผ่าตัด นี่เป็นรายการยาที่แพทย์ที่รักษาท่านอาจจะให้ไปก่อนได้
ยาพ่นจมูกกลุ่มสเตียรอยด์ (Intranasal Corticosteroids)
ลดการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงไซนัส เนื่องจากยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ลดอักเสบโดยตรง ดังนั้นผู้ป่วยจะพบว่ายาสามารถช่วยลดอาการคัดจมูก ลดน้ำมูกได้บ้าง หลักในการใช้คือใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน มักใช้เป็นยาหลักในการรักษาโรคนี้ เพราะสามารถใช้ได้นานโดยพบผลข้างเคียงไม่มาก ตัวอย่างยา เช่น Fluticasone (ฝาสีฟ้า ขวดทรงกระสวย), Mometasone (ฝาสีเขียว), Budesonide
ยารับประทานกลุ่มสเตียรอยด์ (Oral Corticosteroids)
ใช้ในกรณีที่มีการอักเสบรุนแรง หรืออาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาพ่นจมูก มักให้ในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อควบคุมอาการอักเสบอย่างรวดเร็ว เนื่องจากยามีผลข้างเคียงมากหากกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน ตัวอย่างยา เช่น Prednisolone
ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
ใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลันซ้ำซ้อนในไซนัสอักเสบเรื้อรัง แพทย์มักให้ยาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ และเลือกยาที่ครอบคลุมเชื้อโรคกลุ่มที่พบบ่อย เช่น Amoxicillin-Clavulanate หรืออาจใช้ในกรณีมีผลแทรกซ้อนบางอย่างเช่นไซนัสขึ้นไปที่ตา โดยมากยาฆ่าเชื้อจะไม่ได้เป็นยารักษาหลักของไซนัสเรื้อรังเพราะเราทราบว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดเพราะการติดเชื้อ แต่เป็นเพราะภาวะอักเสบของไซนัสนั้นเกิดขึ้นมานานจากความเสื่อมของเยื่อบุโพรงจมูก
ยาลดอาการแพ้ (Antihistamines)
ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้ร่วมด้วย เพื่อลดการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ ตัวอย่างยา เช่น Cetirizine, Loratadine, Fexofenadine ไม่ได้ใช้เป็นยาหลักเช่นกัน
ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
ช่วยลดความหนืดของน้ำมูกและเสมหะ ทำให้ระบายได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างยา เช่น Bromhexine, Acetylcysteine
การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ (Nasal Irrigation)
ช่วยลดน้ำมูก แนะนำให้ใช้เป็นประจำอย่างน้อยวันละครั้ง ไม่ควรใช้หากคัดจมูกมากเพราะน้ำเกลือไม่สามารถเข้าไปในจมูกได้ ทำให้ต้องใช้แรงบีบมากขึ้น และจะทำให้ปวดหูได้
ยาในกลุ่มชีวภาพ (Biologics)
ใช้ในกรณีที่โรครุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อยาอื่นๆ หรือใช้หลังการผ่าตัดที่ยังไม่ได้ผลทั้งที่ผ่าตัดได้หมดจดแล้ว
การรักษาเพิ่มเติมเมื่อการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล คือการผ่าตัดไซนัสด้วยวิธีส่องกล้อง (Endoscopic Sinus Surgery) ใช้ในกรณีที่การรักษาด้วยยาทุกชนิดไม่สามารถควบคุมอาการได้ ข้อดีคือช่วยเปิดทางเดินของโพรงไซนัส ขจัดสิ่งกีดขวาง เช่น ริดสีดวงจมูก หรือเยื่อบุที่อักเสบเรื้อรัง เพื่อให้การระบายของน้ำมูกและอากาศดีขึ้น การผ่าตัดชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูงและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย แต่มีความหลากหลายในการผ่าตัดขึ้นกับแพทย์ และความถนัดของแต่ละท่าน ให้พิจารณาและพูดคุยกับหลายๆ ท่านแล้วค่อยตัดสินใจ
ผศ(พิเศษ) นพ.วิรัช จิตสุทธิภากร